มาทำความรู้จักคริกเก็ต ให้ get กัน

กีฬาคริกเก็ตอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยนัก แต่ก็มีการจัดการแข่งขันกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งการจะดูกีฬาให้สนุกนั้นก็ต้องรู้ในกฎ กติกาที่กำหนดไว้ด้วย บทความนี้เลยจะนำเสนอกติกาเบื้องต้นของกีฬาชนิดนี้ให้ได้เข้าใจกัน

กติกาพื้นฐานของคริกเก็ตมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

  • สนามคริกเกต มีลักษณะเป็นรูปวงรีเกือบกลม พื้นสนามเป็นหญ้าคล้ายสนามฟุตบอล ตรงกลางสนามมีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้สำหรับตีลูกซึ่งเรียกว่า pitch โดยจะมีเส้นที่เรียกว่า เส้นปลอดภัยอยู่ภายในกรอบนั้นทั้ง 2 ฝั่ง และในลาน pitch จะมีเสาไม้ 3 เสา วางเชื่อมกันด้วยตัวหนอน 2 ตัวเรียกว่า วิกเก็ต (wicket)
  • การเล่นคริกเก็ต 1 เกม จะเเบ่งการเล่นเป็น 2 ช่วง (innings) ซึ่งจะแข่งขันกันระหว่าง 2 ทีม โดยจะเลือกกันว่าทีมไหนจะเริ่มเล่นก่อนและสามารถเลือกว่าจะเป็น “ทีมรับ” หรือ “ทีมตี” ก็ได้
  • ทีมตี จะเลือกผู้ล่นสองคน ลงสนาม เป็นผู้ตีคนที่ 1 และ 2 โดยผู้ตีคนที่ 1 จะยืนอยู่บนเส้นปลอดภัยด้านหน้าวิกเก็ตฝั่งหนึ่ง และผู้ตีคนที่ 2 จะยืนอยู่ด้านข้างซ้ายหรือขวาก็ได้หลังเส้นปลอดภัยฝั่งตรงข้ามกับผู้ตีคนที่ 1
  • กรรมการในสนามมี 2 คน โดยคนที่ 1 จะยืนอยู่หลังวิกเก็ตด้านตรงข้ามกับผู้ตีคนที่ 1 และกรรมการคนที่ 2 จะยืนฝั่งเดียวกับผู้ตีซึ่งอยู่ด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งในแนวระยะเส้นปลอดภัย
  • ทีมรับผู้เล่นทั้ง 11 คน จะลงสนามโดยมีตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

– ผู้ขว้าง (Bowler) จะยืนหลังวิกเก็ตโดยอยู่หลังกรรมการคนที่ 1

– ผู้รักษาวิกเก็ต (Wicket keeper) จะยืนหลังวิกเก็ตฝั่งเดียวกับผู้ตีคนที่ 1

– ผู้รับ อีก 9 คน จะยืนในสนามตำแหน่งใดก็ได้แต่ต้องอยู่นอกลาน pitch

โดยวิธีการเล่นคริกเก็ตมีดังนี้

ทีมตี

“ผู้ตีคนที่ 1” จะมีหน้าที่ตีบอลที่ “ผู้ขว้าง” ขว้างไปในทิศทางใดก็ได้ 360 องศา ถ้าตีลูกโดนจะต้องรีบวิ่งให้เข้ามาในเส้นปลอดภัยของอีกฝั่งก่อนที่ “ผู้รับ” จะรับลูกบอลแล้วโยนลูกบอลกลับมาทำลายวิกเก็ตได้ โดยผู้ตีทั้งสองจะวิ่งสวนกันกี่รอบก็ได้เพื่อเก็บคะแนน ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ของผู้ตีที่จะสามารถเข้ามาในเส้นปลอดภัยของอีกฝั่งได้ก่อนที่วิกเก็ตจะถูกทำลาย ซึ่งหากวิกเก็ตถูกทำลาย ผู้ตีฝั่งวิกเก็ตนั้นจะต้องออกจากการแข่งขัน (Run out) และไม่สามารถกลับมาตีได้อีก ทีมตีจะต้องส่งผู้ตีคนใหม่มาแทน

ทีมรับ

“ผู้ขว้าง” (Bowler) จะมีหน้าที่ขว้างบอลเพื่อทำลายวิกเก็ตซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นทีมตีต้องออกไป โดยบอลที่ขว้างต้องกระทบบนลาน pitch หนึ่งครั้งก่อนที่บอลจะลอยไปถึงเป้าหมาย หากผู้ขว้าง ๆ เสียจะทำให้อีกฝ่ายได้คะแนน โดยลูกที่ขว้างเสีย 1 ลูก จะได้ 1 คะแนน เมื่อผู้ขว้าง ๆ ลูก 6 ครั้งเรียกว่า 1 โอเวอร์ (over) โดยแต่ละเกมจะมีการกำหนดไว้ว่าจะเล่นกี่ over

“ผู้รักษาวิกเก็ต” (Wicket keeper) มีหน้าที่คอยรับหรือหยุดบอลจากผู้ขว้างหากผู้ตี ๆ ลูกพลาด นอกจากนี้ยังคอยรับลูกที่ถูกตีโดยไม่ให้ลูกกระทบพื้นก่อนด้วย

วิธีที่ทีมรับจะทำให้ผู้ตีออกจากการแข่งขันได้แก่

– การขว้างโดนวิกเก็ต

– การรับบอลที่ถูกตีที่ได้ก่อนจะตกลงสู่พื้น

– การที่ผู้รับสามารถเก็บบอลได้และใช้ลูกบอลทำลายวิกเก็ตก่อนที่ผู้ตีจะวิ่งถึงเขตปลอดภัย

การทำคะแนน

  • ผู้ขว้าง ๆ ลูกเสีย 1 ลูก เท่ากับ 1 คะแนน
  • การวิ่งสวนกันของผู้ตีเพื่อทำคะแนน โดยการวิ่งสวนกัน 1 รอบเท่ากับ 1 คะแนน
  • ตีโดนบอลแล้วบอลตกในเขตสนามแล้วกลิ้งออกนอกเขตสนาม ได้ 4 คะแนน
  • ตีโดนบอลแล้วบอลลอยออกนอกเขตสนามเลย ได้ 6 คะแนน

การจบอินนิ่ง

  • ครบจำนวนโอเวอร์ที่กำหนดไว้หรือหมดผู้ตี โดยเมื่อจบอินนิ่งที่ 1 แล้วจะเริ่มอินนิ่งที่ 2 โดยสลับทีมกันกล่าวคือทีมรับเปลี่ยนเป็นทีมตีและทีมตีเปลี่ยนเป็นทีมรับ และเมื่อจบเกมจะมีตัดสินจากคะแนนการแข่งขัน โดยฝ่ายใดทำคะแนนได้สูงกว่าฝ่ายนั้นจะชนะ

กติกาดังกล่าวเป็นกติกาพื้นฐาน ที่น่าจะทำให้ผู้สนใจดูกีฬาคริกเก็ตเข้าใจในเกมมากขึ้น แต่ยังคงมีกฎต่าง ๆ ในรายละเอียดอื่น ๆ อีก หากผู้ใดสนใจก็ศึกษาเพิ่มเติมได้ แล้วเราก็จะเป็นอีกคนที่สามารถดูกีฬานี้ได้อย่างสนุกแน่นอน